ในบทความรีววิวนี้จะมาแนะนำซีรีส์ซุเปอร์ฮีโร่ DC จาก Netflix รวมไปถึงตำนานเทพเจ้าที่มีการอ้างอิงในเรื่องนี้ด้วย กับซีรีส์ The Sandman เดอะ แซนด์แมน โดยในเวอร์ชั่นนี้สร้างโดยอิงต้นฉับบมาจากหนังสือการ์ตูนของค่ายฮีโร่ฝั่ง DC ที่แต่งโดย นีล ไกแมน (Neil Gaiman) โดยผู้แต่งที่ไม่ธรรมดามีผลงานที่ได้ไปสร้างเป็นซีรีส์หลายเรื่อง เช่น American Gods, Good Omens หรือว่าหนังสือเทพปกรณัมนอร์ส ที่ขายดีติด Best Seller ของ New York Times และคอมมิค เดอะ แซนด์แมน ก็ยิ่งทำให้ นีล ไกแมน เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้นไปอีก

โดย แซนด์แมน แท้จริงแล้วเขาเป็นเทพนิทรา นามว่า มอร์เฟียส (Morpheus) โดยเป็น 1 ใน 7 Endless หรือเทพอนันต์ทั้ง 7 ซึ่งได้แก่ Dream, Death, Destiny, Despair, Desire, Delirium และ Destruction โดยตัวเอกในเรื่องนี้ก็คือ Dream หรือว่า มอร์เฟียส โดยอิงตัวละครมาจากตัวละครเจ้าแห่งความฝันในตำนานกรีกชื่อว่ามอร์เฟียสเหมือนกัน แต่นำมาตีความใหม่ให้ดูโมเดิร์นขึ้น ซึ่งเขาเป็นผู้ดูแลโลกแห่งความฝันและจินตนาการ ควบคุมแรงบันดาลใจ และทุกความฝันจะต้องผ่านโลกของมอร์เฟียส ทั้งเทพ ปีศาจ พวกมิวส์ (Muse) สัตว์วิเศษต่างๆ รวมถึงมนุษย์

มาคราวนี้ซีรีส์ The Sandman เวอร์ชั่น Netflix จะมาในรูปแบบฮีโร่ Dark Fantasy โดยจะมีการนำดราม่าทางประวัติศาสตร์และตำนานความเชื่อมาเชื่อมโยงเป็นเรื่องเดียวกัน และเหล่าเทพ Endless ทั้ง 7 ก็จะมาปรากฏตัวในซีรีส์นี้อีกด้วย โดยทาง Netflix ก็ได้ประกาศรายชื่อนักแสดงแล้ว และในบทความนี้จะนำผู้ชมไปรู้จักกับเทพเจ้า มอร์เฟียส ในตำนานเทพเจ้ากรีกว่า มีประวัติความเป็นมาอย่างไรบ้าง เขาเป็นใครมาจากไหน ถือว่าเป็นเกร็ดตำนานไว้อุ่นเครื่องก่อนชมซีรีส์ The Sandman

เทพเจ้ามอร์เฟียสในปกรณัมกรีก
โดยเทพมอร์เฟียสเป็นเพทเจ้ากรีกที่คนไม่ค่อยได้ยินชื่อสักเท่าไหร่ เพราะเป็นเทพชั้นรอง ผิดกับเทพเจ้าซูส (Zeus), โพไซดอน (Poseidon), เฮดีส (Hades) หรือ อะพอลโล (Apollo) ตามหนังสือเล่าว่า ในตอนที่กำเนิดจักรวาล เคออส (Chaos) ได้ให้กำเนิดเทพรุ่นแรก นั่นก็คือ เอเรบัส (Erebus) เทพแห่งความมืด กับ นิกซ์ (Nyx) เทพีแห่งกลางคืน เป็นทั้งแฝดชาย-หญิง และเป็นสามี-ภรรยากันอีกด้วย หลังจากโลกหรือเทพีไกอา Gaia ได้กำเนิดมาแล้ว นิกซ์กับเอเรบัสก็ได้ให้กำเนิดเทพฝาแฝดชื่อว่า ฮีปนอส (Hypnos) เทพนิทรา (เทพแห่งการหลับไหล) กับ ธานาทอส (Thanatos) เทพแห่งความตาย โดยคนส่วนมากมักจะเข้าใจผิดว่า เฮดีสเป็นเทพแห่งความตาย แต่ที่จริงแล้วเฮดีสเป็นเพียงผู้ปกครองยมโลกเท่านั้น และยังเป็นเทพที่มาทีหลังด้วย แต่ว่า ธานาทอสคือความตายตัวจริงเสียงจริงที่เป็นนามธรรมโดยตรง ซึ่งภายหลัง Hypnos ก็มีเมียชื่อว่า Pasithee เป็นเทพีแห่งการผ่อนคลาย คู่กับการนอนนั่นเอง และยังเป็นหนึ่งในเทพี Charites เหล่าธิดาของซูสกับ Eurynome แล้วจากนั้น Hypnos ก็ให้กำเนิดบรรดาลูกๆ เรียกว่า โอเนรอย (Oneiroi) เทพแห่งความฝัน-การหลับไหลที่มีนับพันตน และหัวหน้า โอเนรอย (Oneiroi) ก็คือ มอร์เฟียส พระเอกในซีรีส์นี้นั่นเอง นอกจากนี้ยังมีน้องชายชื่อ โฟเบเตอร์ (Phobetor) เทพแห่งฝันร้าย Phantasos เทพแห่งแฟนตาซี จินตนาการทำให้คนที่ฝันเห็นสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งรวมถึงนิมิต โดยเทพทั้งสองก็ได้เป็นลูกมือควบคุมหน้าที่ของเทพมอร์เฟียส เวลาทำให่คนฝันดีและฝันร้าย รวมไปถึงลางบอกเหตุในอนาคตให้กับเทพเจ้า เหล่าวีรบุรุษและกษัตริย์เมืองต่างๆ

เทพเจ้ามอร์เฟียสอาศัยอยู่ที่ไหน?
ครอบครัวของมอร์เฟียส รวมไปถึงปู่และย่าแบบเอเรบัส (Erebus) กับ นิกซ์ (Nyx) กลุ่มเทพสายดาร์กเหล่านี้อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งความฝันที่ตั้งอยู่ในส่วนหนึ่งของยมโลกตามบทกวี Odyssey ของ Homer บรรยายว่าในแต่ละคืนเหล่าโอเนรอยจะออกมาจากปราสาทของ Hypnos และก็ผ่านประตูสองประตู โดยมอร์เฟียสจะผ่านประตูที่สร้างมาจากเขาสัตว์ แทนความจริงหรือนิมิตฝันที่เห็นเหตุการณ์ล่วงหน้า ส่วนน้องๆ ของมอร์เฟียสก็จะผ่านประตูที่สร้างมาจากงาช้าง อันหมายถึง ฝันที่ไม่มีความหมายอะไร เนื่องจากคำว่า เขา hornในภาษากรีกไปพ้องเสียงกับคำว่า fulfil ก็คือเติมเต็มความปรารถนา ส่วนงาช้าง ivory ในภาษากรีกไปพ้องเสียงกับคำว่า deceive กลายเป็นฝันเลื่อนลอยไม่มีอะไร ซึ่งก็มีแค่เหล่าเทพเท่านั้นที่สามารถไปยังดินแดนของพวก โอเนรอยได้ โดยประตูทั้งสองนี้จะถูกเฝ้าโดยอสูรกายน่ากลัวเป็นทวารบาล ไม่ให้ใครบุกรุกถ้าหากไม่ได้รับเชิญ และรอบเมืองยังมีแม่น้ำ Lethe แม่น้ำแห่งการลืมเลือน คือถ้าหากเผลอพลัดตกลงไปก็จะถูกลบความทรงจำ

เทพเจ้ามอร์เฟียสทำหน้าที่อะไร
ส่วนตัวเทพมอร์เฟียสก็จะนอนในถ้ำที่เต็มไปด้วยเมล็ดป๊อบปี้ พร้อมกับสร้างความฝันของสิ่งมีชีวิตไปด้วย ส่วนดอกป๊อบปี้ยังมีฤทธิ์คล้ายยากล่อมประสาท ซึ่งเอาไว้รักษาโรคนอนไม่หลับ เขาจึงดูเป็นเทพที่งานยุ่งตลอดเวลา และที่สำคัญไม่มีพระชายาด้วย แต่ว่าเขามักจะถูกจับคู่กับเทพีไอริส เป็นเทพีแห่งสายรุ้ง เป็นผู้นำสาส์นของเทพโอลิมปัสเวลาส่งข้อความมาหาพวกแดนแห่งความฝัน และที่สำคัญชื่อมอร์เฟียส Morpheus ก็มีรากศัพท์มาจากคำว่า Morph ที่แปลว่าการเปลี่ยนรูปร่าง โดยค่อยๆ เปลี่ยนจากสิ่งหนึ่งไปอยู่สิ่งหนึ่ง ชื่อ Morpheus ก็เลยหมายถึง การควบคุม การเปลี่ยนอะไรบางอย่างในความฝัน ส่วนคำอื่นที่มาจากรากศัพท์ Morph เช่น Morphine ยาระงับการปวดในการแพทย์ Metamorphosis แปลว่าการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น ส่วนหน้าตาของมอร์เฟียสยังไม่ค่อยมีรายละเอียดมากนัก บอกแต่เพียงว่า เป็นเทพเจ้าแห่งความฝันเท่านั้น เนื่องจากเดิมทีแล้วสถานะมอร์เฟียสในกรีกเป็นเพียงคอนเซ็ปบุคลาที่ฐานของความฝันมากกว่า เพราะว่า Hypnos พ่อของเขาเป็นเทพแห่งการหลับไหล แต่ตัวตนของเขาก็มาชัดเจนขึ้นโดยโอวิด กวีชาวโรมัน ช่วงคริสศตวรรษที่ 8 ได้บรรยาว่า มอร์เฟียสเป็นบุคคล ดังนั้นเรื่องเล่าและภาพลักษณ์ของมอร์เฟียสจึงมาจากฝั่งโรมันซะเยอะด้วยเหตุนี้เอง ตามงานเขียนมหากาพย์เมทามอร์โฟซีส มอร์เฟียสมีหน้าที่บันดาลความฝันของมนุษย์ตามคำบรรยายในบทกวีของโอวิดกล่าวไว้ว่า ในบรรดาบุตรนับพัน ผู้มีความสามารถเป็นเลิศในการเลียนแบบรูปร่างของมนุษย์ นามนั้นคือ มอร์เฟียส เป็นผู้ที่สามารถแสดงท่าทางล่อลวง การก้าวย่าง กิริยาวาจาของมนุษย์ได้อย่างแนบนียนราวกับภาพสะท้อนของมนุษย์คนนั้นเลยทีเดียว อีกทั้งยังสามารถจำแลงกายเป็นสัตว์ป่า วิหก และเลื้อยเหมือนงูได้ ศิลปินจึงมักวาดให้เป็นชายหนุ่มรูปงาม มีปีกเหมือนทูตสวรรค์ บางที่ก็วาดให้เป็นเทวดาที่หูมีปีกข้างเดียว โดยหูข้างปกติเอาไว้ฟังความฝันจากมนุษย์ ส่วนข้างที่มีปีกเอาไว้ฟังความฝันของพวกเทพเจ้า ส่วนบทบาทของเทพมอร์เฟียสที่เด่นชัดนั่นคือ ในมหากาพย์เมทามอร์โฟซีส ของโอวิด ในเรื่องราวของราชินีอัลซิโอเน่ พระชายาของกษัตริย์ซีอิกซ์ โดยวันหนึ่งกษัตริย์ซีอิกซ์ได้ขึ้นเรือไปต่างเมือง แต่เกิดลมพายุ มรสุมรุนแรงมาก ได้พัดจนเรืออับปางลง พระองค์จึงจมน้ำและสิ้นพระชนม์ระหว่างทาง แต่ราชินีอัลซิโอเน่ก็ไม่ทราบข่าวร้ายดังกล่าว และยังคงรอคอยพระสวามีกลับมาอยู่นานมาก ฝ่ายเฮร่าราชินีแห่งสวรรค์ก็เห็นใจสงสารอัลซิโอเน่ เพราะอัลซิโอเน่คือสาวกผู้บูชาเฮร่าเสมอมา เฮร่าจึงส่งเทพีไอริสส่งข้อความไปบอกฮิปนอสให้ช่วยเหลือ ฮิปนอสจึงส่งมอร์เฟียสเข้าไปในฝันของอัลซิโอเน่ เพื่อบอกข่าวการตายของกษัตริย์ซีอิกซ์ให้กับนาง มอร์เฟียสจึงแปลงร่างเป็นราชาซีอิกซ์ที่มีสภาพเปียกน้ำทะเล มีทั้งสาหร่าย กุ้ง หอย ปู ปลา เกาะเต็มตัว มอร์เฟียสในร่างราชาซีอิกซ์ได้บอกข่าวการตายให้กับอัลซิโอเน่ บอกว่าอย่าเสียเวลาคิดถึงข้าฯเลย เพราะข้าฯได้ตายแล้วจากเรือล่ม และก็เตรียมจัดงานศพให้ข้าฯด้วย และเมื่ออัลซิโอเน่พยายามจะแตะมือราชาซีอิกซ์จำแลงในฝัน ก็ตกใจตื่นขึ้นทันที นางจึงรีบวิ่งไปยังผาริมทะเลก็เห็นศพของพระสวามีลอยน้ำมาจริงๆ ทำให้พระนางเสียใจมากจึงคิดจะกระโดดหน้าผาริมทะเลเพื่อฆ่าตัวตายตาม เหล่าเทพทั้งซุสและเฮร่าก็สงสารจึงได้บันดาล เสกซีอิกซ์ไปเป็นนกกระเต็นนกอัลเฟียน ทำให้นกตัวนี้กลายมาเป็นนกศักดิ์สิทธ์ที่เชื่อว่าทำให้ทะเลและคลื่นสงบลงได้ และเมื่อนกอัลซิโอเน่สร้างรังของนางที่ชายฝั่งทะเล และคลื่นซัดรังของนางพัง เอโอรัส เทพแห่งสายลมจึงบันดาลให้คลื่นทะเลสงบเป็นเวลา 7 วันทุกปี เพื่อที่นางจะได้วางไข่ นกนี้จึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความสงบราบลื่นนับแต่นั้นเป็นต้นมา และนอกจากนี้ในมหากาพย์อีเลียตของโฮเมอร์ มอร์เฟียสก็เป็นผู้ส่งสาสน์ของซูสให้กับราชาอากาเมนน่อน ปัจจุบันรูปปั้นและภาพวาดมอร์เฟียสในแบบฉบับโมเดิร์นมักอิงมาจากช่วงเกรโก-โรมัน โดยถือกล่องที่ทำมาจากเขาสัตว์และงาช้าง ซึ่งข้างในบรรจุฝันดีและฝันร้ายไว้ตามลำดับ และเทพมอร์เฟียสของกรีกและโรมันก็ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับ นีล ไกแมน ในการสร้างตัวละคร แซนด์แมน ขึ้นมา โดยผสมเอาความเชื่อเรื่องแซนด์แมน ภูตแห่งทรายที่มาจากนิทานพื้นบ้านของชาวยุโรปแถบสแกนดิเนเวีย Scandinavia โดยแซนด์แมนก็คือภูต หรือเทพพิทักษ์ เขาที่หน้าที่โปรยทรายวิเศษไปที่ตาของเด็กๆ ตอนกลางคืน ทำให้เด็กๆ ฝันดี และนิทานก็โยงว่าขี้ตาก็คือเศษทรายที่โปรยเอาไว้นั่นเอง นี่คือที่มาว่าทำไมมอร์เฟียสจึงมาเกี่ยวข้องกับทรายในซีรีส์ เดอะ แซนด์แมน นั่นเอง

ส่วนใครที่ไม่ได้อ่านฉบับคอมมิคก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะในซีรีส์ Netflix จะเป็นการตีความใหม่ทั้งหมด ก็คือทุกคนจะรู้เรื่องได้เท่ากันหมด โดยในเรื่องราวในเวอร์ชั่นซีรีส์ จะเป็นเรื่อง มอร์เฟียส เจ้าแห่งความฝัน โดยเขากลับมาอีกครั้งหลังจากได้รับการปล่อยตัว เราจะได้ตามไปเห็นชีวิต ผู้คน สถานที่ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากตัวมอร์เฟียส แล้วเขาเองก็พยายามแก้ไขความผิดพลาดที่ตัวเองก่อไว้ตลอดชีวิตอันคงกระพัน ทั้งตอนที่อยู่ในจักรวาลและโลกมนุษย์ โดยความน่าสนใจของซีรีส์นี้ก็คือ อำนวยการสร้างโดย นีล ไกแมน ผู้แต่งเดอะ แซนด์แมน ฉบับคอมมิค ร่วมกับ อัลลัน ไฮน์เบิร์ก จาก Wonder Woman และ David S. Goyer จาก แบทแมน บีกินส์ (Batman Begins) โดยซีรีส์จะมีทั้งหมด 11 ตอน เรียกได้ว่าจุใจสำหรับแฟนคอมมิคเลยทีเดียว หวังว่ารีวิวนี้จะทำให้ผู้ชมดูซีรีส์ The Sandman ได้สนุกขึ้น